ส่งออกไทยอ่วม จีนเร่งส่งสินค้าไปสหรัฐ หนีภาษีสูง ดันค่าระวางเรือพุ่ง100%

22 พฤษภาคม 2567
ส่งออกไทยอ่วม จีนเร่งส่งสินค้าไปสหรัฐ หนีภาษีสูง ดันค่าระวางเรือพุ่ง100%

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนรอบใหม่ ลามกระทบไทย-โลก ดันค่าระวางเรือพุ่ง 100% หลังจีนเร่งส่งออกก่อนถูกขึ้นภาษีสูง สรท.เผย 10 ปีไทยส่งออกไปสหรัฐเพิ่ม 112% ไปจีนโตแค่ 25% ปี 67 ไทยจ่อขาดดุลค้าจีนพุ่ง 1.6 ล้านล้าน รถอีวี แบตฯ เหล็กจีนผลิต-ส่งออกจากไทยเสี่ยงสูงถูกขึ้นภาษีในอนาคต

สงครามการค้า หรือ เทรดวอร์ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน สองมหาอำนาจยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจและการค้าโลกที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2561 สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีมหาศาลต่อจีน และสงครามการค้ายังมีต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ล่าสุดสงครามการค้าร้อนระอุขึ้นอีกครั้งหลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนหลายรายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มุ่งเป้าสินค้ายุทธศาสตร์และสร้างมูลค่าการค้าใหม่ให้กับจีน

สินค้าที่สหรัฐประกาศเก็บภาษีจากจีนภายในปีนี้ มีระดับอัตราภาษีตั้งแต่ 25-102% อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จาก 27.5% เป็น 100%, แบตเตอรี่สำหรับรถ EV และชิ้นส่วนแบตเตอรี่จาก 7.5% เป็น 25%, เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์จาก 25% เป็น 50%, เครนยกตู้สินค้าจากไม่เรียกเก็บภาษี เป็นเก็บ 25% และอุปกรณ์ทางการแพทย์จากไม่เรียกเก็บภาษี เป็นเก็บ 50% และชิ้นส่วนกึ่งตัวนำไฟฟ้า (เซมิคอนดักเตอร์) จะเพิ่มจาก 25% เป็น 50% ภายในปี 2568 เป็นต้น

จีนเร่งส่งออกไปสหรัฐดันค่าระวางเรือพุ่ง

นายประมุข เจิดพงศาธร ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท PJUS GROUP,USA ผู้จัดหาและนำเข้าสินค้าไทยป้อนให้กับตัวแทนจำหน่าย ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และเรือนจำในสหรัฐ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่ปะทุขึ้นในรอบใหม่ ส่งผลให้เวลานี้ผู้ค้าของสหรัฐได้เร่งนำเข้าสินค้า ขณะที่จีนเร่งส่งออกไปสหรัฐฯเพื่อเลี่ยงผลกระทบจากกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าที่จะปรับตัวสูงขึ้น 25-100% ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้

“ค่าระวางเรือมหาโหดกำลังเริ่มขึ้นอีกแล้ว จากที่สหรัฐฯประกาศจะปรับขึ้นสินค้าจากจีนหลายรายการทั้งในปีนี้ และปีหน้า ส่งผลให้เวลานี้มีการเร่งนำเข้าสินค้า ทำให้มีความต้องการระวางเรือมากขึ้นจากผู้ประกอบการของจีนก่อนถูกเก็บภาษีเพิ่ม รวมถึงยังมีความต้องการระวางเรือจากประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศผู้ส่งออกอื่น ๆ เพื่อส่งออกไปสหรัฐ ที่ต้องแย่งกันในช่วงฤดูการนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่อมดื่ม

จากความต้องการระวางเรือที่มีมากกว่าซัพพลาย สายเดินเรือเส้นทางอเมริกาได้ประกาศปรับขึ้นค่าระวางเรือรวดเดียว 100-150% เวลานี้อยู่ที่ระดับ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ (20 ฟุต) จากก่อนหน้านี้เคยอยู่ที่ระดับ 1,200-1,500 ดอลลาร์ต่อตู้ ในอนาคตอาจจะกระโดดขึ้นไปที่ 6,000-8,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ก็มีความเป็นไปได้ เป็นอีกต้นทุนสำคัญที่ผู้ส่งออกไทยต้องแบกรับ”

10 ปีส่งออกไทยไปสหรัฐโต 112%

สอดคล้องกับ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่กล่าวว่า ค่าระวางเรือไปยังฝั่งทะเลด้านตะวันออกของสหรัฐ (East Coast) ที่นิยมใช้ตู้สินค้าขนาด 40 ฟุต เวลานี้อยู่ที่ประมาณ 4,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ จากต้นเดือนเมษายนอยู่ที่ประมาณ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนฝั่งทะเลด้านตะวันตก (West Coast) ต้นเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 3,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ ปรับเพิ่มเป็น 3,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้

ทั้งนี้ค่าระวางมีโอกาสปรับขึ้นได้อีกจากการปั่นราคาของสายเดินเรือ อ้างเร่งนำเข้าสินค้าไปสหรัฐ และจากราคานํ้ามันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งผู้ส่งออกต้องประสานกับผู้นำเข้า เพื่อดูแลต้นทุนค่าขนส่งให้ดีในช่วงที่ค่าระวางเรือมีความผันผวน

ต่อสงครามการค้าที่ปะทุขึ้นในปี 2561 ถึง ณ ปัจจุบัน ทางสรท.ได้รวบรวมข้อมูลการส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐและตลาดจีนที่เป็นคู่สงครามการค้า และเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทย พบว่า การส่งออกของไทยไปสหรัฐในปี 2556 มีมูลค่า 22,953 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2566 มีมูลค่าส่งออก 48,864 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 112% ขณะที่การส่งออกของไทยไปจีนปี 2556 มีมูลค่า 27,232 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2566 ส่งออกมูลค่า 34,164 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 25%

ทั้งนี้มี 3 กลุ่มสินค้าส่งออกของไทยที่ถือมีความโดดเด่น สามารถส่งออกไปสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปี 2556 ส่งออกได้ 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2566 ส่งออกได้ 5,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 600% , ชิ้นส่วนยานยนต์ ปี 2556 ส่งออก 434 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2566 ส่งออกได้ 1,423 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 227% และผลิตภัณฑ์ยาง ปี 2556 ส่งออก 1,973 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2566 ส่งออกได้ 4,589 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 132%

“3 กลุ่มสินค้าที่เราส่งออกไปตลาดสหรัฐได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นสินค้านำเข้าทดแทนสินค้าจีน และส่วนหนึ่งเป็นผลจากจีนย้ายฐานการผลิตมาไทย และใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออกไปสหรัฐ สงครามการค้าสหรัฐ-จีนรอบใหม่นี้ ไทยอาจได้รับอานิสงส์ส่งออกไปสหรัฐได้เพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าไทยในบางกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบส่งออกไปจีนได้ลดลง จากจีนจะส่งออกไปสหรัฐได้ลดลง และลดการนำเข้าวัตถุดิบจากไทย เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น”

จับตาขาดดุลค้าจีนพุ่ง 1.6 ล้านล้าน

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า สงครามการค้าสหรัฐ-จีนรอบใหม่ จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งในแง่บวกและแง่ลบ แง่บวกคือ สินค้าจีนที่ถูกสหรัฐขึ้นภาษีในรอบนี้ เช่น เหล็ก โซลาร์เซลล์ และเซมิคอนดักเตอร์ ไทยจะนำเข้าจากจีนในราคาถูกลง รวมถึงสินค้าต่าง ๆ ที่นำมาขายผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ขณะเดียวกันจะส่งผลให้ไทยมีโอกาสขาดดุลการค้าจีนเพิ่มขึ้น จากปี 2566 ไทยขาดดุลการค้าจีนประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท มีโอกาสปีนี้จะขาดดุลการค้าจีนเพิ่มเป็น 1.5-1.6 ล้านล้านบาท

“ที่ต้องจับตามองในอนาคต จากที่จีนได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยในหลายอุตสาหกรรม เช่น ผลิตรถ EV แบตเตอรี่สำหรับรถ EV โซลาร์เซลล์ และในอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งล่าสุดแผงโซลาร์เซลล์จากไทยที่มีจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่จะถูกสหรัฐขึ้นภาษี 250% ในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่สินค้าเหล็กจากไทยก็มีความเสี่ยงถูกสหรัฐจับตามองว่าไทยอาจเป็นทางผ่านสินค้าจีนส่งไปทุ่มตลาดในสหรัฐ และอาจจะถูกขึ้นภาษี เหมือนเหล็กจีนที่ใช้เม็กซิโกเป็นทางผ่านส่งเข้าสหรัฐ และกำลังถูกตรวจสอบ ส่วนสินค้ารถ EV ที่ค่ายจีนเข้ามาตั้งฐานในไทย และเวลานี้ยังไม่มีการส่งออก แต่ในอนาคตถ้ามีการผลิตเยอะ ๆ และส่งออกไปต่างประเทศ รวมถึงไปสหรัฐ รถ EV จีนที่ผลิตไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐขึ้นภาษีเช่นกัน”

สำหรับสงครามการค้าสหรัฐ-จีนรอบใหม่นี้ ในแง่การส่งออกสินค้าจากไทยเพื่อทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐคงได้อานิสงส์บ้าง แต่ประเทศที่มองว่าจะได้รับประโยชน์ส่งออกไปสหรัฐได้เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ เวียดนาม ที่มีความตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์การค้ากับจีน อย่างไรก็ดีหากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดี คาดสงครามการค้าสหรัฐ-จีนจะยิ่งทวีความเข้มข้น


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.